Share

บทสัมภาษณ์ว่าที่ ดร.เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิ (Part 1/2)

March 15, 2018

Lifeis

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ทาง LIFEiS ได้ไปเปิดตัวทางวิทยุครั้งแรกในรายการ Much Mellow ที่คลื่น Mellow 97.5FM ดำเนินรายการโดยคุณบอย โกสิยพงษ์ และคุณไลฟ์ วาระ มีชูธน พร้อมกับแขกรับเชิญพิเศษ ว่าที่ ”ดอกเตอร์ เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิ” ผู้เชี่ยวชาญในด้านการสร้างพัฒนาการให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่ได้รับการยอมรับ และให้เป็นผู้เขียนหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพในเด็กที่มีความต้องการพิเศษคนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา

ทาง LIFEiS จึงขอประมวลเนื้อหาที่ทั้ง 3 ท่านได้พูดคุยกันผ่านทางรายการมาเป็นบทความพิเศษให้กับท่านผู้อ่านที่สนใจ

รู้จักกับว่าที่ ดร.เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิ

คุณเพลิน จบป.โท ทางการศึกษาพิเศษและวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็ก (Early Intervention – 0-5 years) จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ที่เชื่อว่าหากเราสามารถกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ได้ดีแล้ว จะทำให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพของเขาให้สูงสุดได้ในวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่ ได้

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หมายความถึง เด็กที่มีความล่าช้าทางพัฒนาการ  ออธิสติกส์ ดาวน์ซินโดรม ซึ่งแนวคิดแบบเดิมมีความเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะเป็นแบบนั้นไปตลอด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับการพัฒนาตลอดชีวิต แต่สำหรับแนวคิดใหม่ จะมีความเชื่อมั่นว่า เด็กกลุ่มนี้ต่างมีศักยภาพที่อยู่ในตัว และสามารถกระตุ้นได้

หลังจากที่จบป.โท คุณเพลินก็ได้ทำงานเป็นนักกระตุ้นพัฒนาการมาเรื่อยๆ ส่วนมากจะไป ฝึกเด็กและผู้ปกครองที่บ้าน ที่โรงเรียน และตามศูนย์ต่างๆ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้วคุณเพลินก็เริ่มเรียนต่อป.เอก สาขาวิชาเดิม แต่เน้นหนักไปในเรื่องของปัญหาพัฒนาการ และปัญหาสุขภาพจิตของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้จบ Course work แล้ว และกำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่

นอกจากนี้คุณเพลินยังเคยเป็นผู้อำนวยการของ Felton Institute (Family Service Agency of San Francisco) และยังได้ใช้ระยะเวลาในการฝึกการพัฒนาศักยภาพเด็กประมาณ 2 ปี จนได้เป็น Certified Therapist ของ Early Started Denver Model (ESDM) จาก UC Davis รวมทั้งได้เขียนโปรแกรมการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กเล็ก (0-5 ปี) ที่มีภาวะ Autism โดยเอา ESDM เข้ามาใช้ในศูนย์ Child care center ที่ Northern California ซึ่งถือเป็นการใช้โปรแกรมนี้แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา

สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สภาพแวดล้อมมีความหมายอย่างมาก

มีประโยคหนึ่งกล่าวไว้ว่า “It takes a village to raise a child” แปลตรงๆได้ว่า เราต้องใช้เมืองทั้งเมืองในการสร้างเด็กขึ้นมาหนึ่งคน แต่ในความหมายที่แฝงอยู่นั้น คือ สภาพแวดล้อมทั้งหมดมีส่วนในการพัฒนาเด็กทั้งสิ้น

คุณเพลินคิดว่า การเลี้ยงลูกเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถทำได้ดีที่สุด ดังนั้นความเข้าใจของครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อมจะมีผลมากต่อการเลี้ยงดูเด็กทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้น  หลักการที่เราพูดถึงกันวันนี้จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเด็กทุกคนได้

เด็กทุกคนตอนเกิดมาเป็นทารก เขายังจัดการและดูแลตัวเองไม่ได้ และยังไม่มีความสามารถที่จะสะท้อนมองตัวเอง หรือเข้าใจตัวเอง (Self-reflection) เด็กทารกจึงจะทำความเข้าใจตัวเขาเองผ่านทางสายตาของคนอื่นที่มองมา  แล้วจึงใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการมองตัวเอง เช่น เวลาที่เขาทำอะไรแล้วมีคนชื่นชม เขาก็จะเกิดความรู้สึกดีกับตัวของเขาเอง และในทางกลับกัน หากมีใครมามองว่าเค้าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เขาก็จะเชื่อว่าเขาทำอะไรเองไมได้จริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราทุกคนยังมีทัศนคติต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหมือนสมัยก่อนๆว่าเป็นคนน่าสงสาร ต้องคอยให้ความช่วยเหลือ ทำอะไรเองไม่ได้ เด็กคนนั้นก็จะติดกับภาพลักษณ์อย่างนั้น และไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ในที่สุด

ดังนั้น สังคม ทัศนคติ มุมมองของคนที่อยู่รอบๆ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเด็กคนนั้นคือใคร

 

วิธีที่ดีที่สุดในการปฏิบัติกับคนที่มีความต้องการพิเศษ คือ พยายามที่จะเข้าใจเขาจริงๆ

เด็กๆเหล่านี้จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ บางคนอาจจะพูด บางคนอาจจะไม่พูด และอื่นๆอีกหลายรูปแบบ

ก่อนอื่นเลย เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเรารู้สึกอย่างไร แล้วให้รู้ต่อไปว่าความรู้สึกเหล่านั้นมาจากไหน เช่น เพราะเรามีความรู้ไม่พอ ไม่คุ้นเคย ไม่มีประสบการณ์ หรือเพราะเราไม่รู้จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร แต่เราต้องอย่าให้ความรู้สึกเหล่านั้นมาทำให้เราคิด และสื่อสารกับเด็กเหล่านั้นในแบบที่เราคิด เช่น เมื่อเราเจอเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เราอาจจะรู้สึกกังวล หรือไม่รู้จะรับมืออย่างไร เราก็จะปฏิบัติต่อเด็กเหล่านั้นโดยแสดงความกังวลออกไปอย่างไม่ตั้งใจ แต่ผลคือน้องๆเหล่านั้นก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบายใจตามเราไปด้วย

ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าเรารู้สึกไม่สบายใจ เพราะเราไม่รู้จะรับมืออย่างไรแล้ว ให้ลองถามตัวเองต่อว่าเราพร้อมจะมีประสบการณ์ใหม่ๆหรือไม่ ถ้าเราพร้อม วิธีที่ดีที่สุด คือตั้งใจฟัง ตั้งใจดู ตั้งใจรับรู้ และพยายามที่จะเข้าใจพวกเขาให้มากที่สุด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ยังมีเนื้อหาอีกส่วนที่ LIFEiS เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกๆกลุ่ม ซึ่งทาง LIFEiS จะเรียบเรียงมาให้อ่านต่อไป

อย่าลืมติดตามกันนะฮะ