
บทสัมภาษณ์ว่าที่ ดร.เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิ (Part 2/2)
Lifeis
หลังจากที่เราได้ลงบทสัมภาษณ์ของคุณเพลินไปแล้วเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว จบลงตรงที่วิธีการปฏิบัติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ดีที่สุด คือการพยายามเข้าใจเขา วันนี้เราจะมาคุยกันต่อว่าสังคมรอบข้าง มีผลอย่างไรต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัวของเด็กเหล่านั้นบ้าง
ถ้าสังคมเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างได้ เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
อย่างแรกเลยอยากจะบอกว่าพ่อแม่ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษว่า “คุณไม่ได้อยู่คนเดียว” ผู้ปกครองหลายๆท่านที่คุณเพลินเคยทำงานด้วยก็มีความกังวลแบบนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้ไม่ได้มีบอกไว้ชัดเจนว่าต้องทำแบบนั้น แบบนี้ ถึงจะแก้ได้ แต่ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน และพยายามมองให้เห็นสิ่งดีๆในความแตกต่างนั้น ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้
การยอมรับในความแตกต่างนี้ไม่เพียงแต่เฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้น แต่พ่อแม่ท่านอื่นๆก็เช่นเดียวกัน ถ้าทุกคนเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง แนวคิดดังกล่าวก็จะถูกส่งต่อไปยังลูกหลานให้มีความเข้าใจ และยอมรับตามไปด้วย
คุณบอยเสริมว่า ถึงแม้ว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นกับเรา แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีทางเกิดขึ้นกับเราตลอดไป เราไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันที่เกิดขึ้นกับเรา แต่ควรพยายามเข้าใจตั้งแต่ตอนนี้ ดังนั้น อยากให้ช่วยเล่าสู่กันฟังต่อไปเรื่อยๆว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเข้าใจ เพื่อให้เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้
เด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องการแค่ “พื้นที่ให้ยืน”
คุณเพลินเล่าต่อว่าตอนที่ทำวิจัยเคยถามพ่อแม่ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษว่า อยากบอกอะไรให้สังคมเข้าใจในตัวของลูก แล้วได้รับคำตอบว่า “ขอพื้นที่ให้ลูกยืน” ซึ่งคำตอบนี้เป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจตลอด เพราะพ่อแม่เขารู้สึกว่าสังคมมองลูกเขาเป็นตัวประหลาด แล้วลูกเขาเลยไม่มีพื้นที่ยืนในสังคม เลยอยากขอโอกาส และให้การยอมรับลูกเขาให้เหมือนกับเด็กทั่วๆไปคนหนึ่ง
คุณบอยให้ความเห็นว่าคำตอบนี้มันแสดงให้เห็นว่าครอบครัวของเด็กเหล่านี้ต้องเจออะไรมาเยอะมากจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือ โดยปกติถ้าเราเดินไปตามถนนแล้วเจอเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เราจะหลบ หรือจ้อง หรือกลัวเขาโดยอัตโนมัติ ซึ่งถึงแม้ว่าสิ่งที่เราทำ เราไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่มันก็จะสะท้อนไปในสายตาเขาว่า เขาเป็นตัวประหลาด ดังนั้น เราจึงอยากช่วยให้โปรโมทกันออกไปว่า ถ้าวันหนึ่งเราได้เจอคนที่มีความต้องการพิเศษ เราต้องพยายามทำให้หัวใจเราเสถียรที่สุดที่จะไม่แสดงความรู้สึกที่จะรังเกียจหรือมองว่าเขาแตกต่างจากเรา
อยากให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมีโอกาสได้เรียนร่วมกับเด็กปกติด้วย
ตลอดเวลาที่คุณเพลินทำงานกับทางโรงเรียน โรงเรียนมักจะกลัวว่าหากดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่าเด็กคนอื่นๆ จะทำให้ผู้ปกครองเด็กคนอื่นไม่พอใจเพราะโรงเรียนเอาใจใส่เด็กที่มีความต้องการพิเศษมากเกินไป และไม่ยุติธรรมต่อเด็กคนอื่นๆ หรือบางครั้งมีการแยกห้องเด็กที่มีความต้องการพิเศษออกมาต่างหาก ซึ่งนั่นหมายความว่า เรากำลังคิดว่าเด็กกลุ่มนี้แปลกแยก และไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆได้ หรือก็คือไม่ให้โอกาสให้เขาได้เรียนร่วมกับคนอื่นๆในสังคมเลย
อย่างไรก็ตาม หากเราเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆแล้วพบว่าทำให้เกิดความเครียดมากเกินไป หรือไม่สามารถปรับตัวได้จริงๆ ก็สามารถแยกออกไปในภายหลังได้ แต่อย่างน้อยควรให้โอกาสก่อน ซึ่งเรื่องนี้ พ่อแม่ของเด็กปกติคนอื่นๆควรมีความเข้าใจด้วย เพื่อให้ลูกๆของตนอยู่ร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้
แนวคิดในการฝึกเด็กที่มีความต้องการพิเศษในสมัยก่อนจะเน้นการบังคับ ถ้าเด็กไม่ทำตามก็จะบังคับมาทำในทุกๆเรื่อง เพราะมีมุมมองว่าเด็กต้องทำตามผู้ใหญ่ทุกอย่าง ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ว่าอาจจะไม่สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แต่ในแนวคิดแบบใหม่จะเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับตัวเด็กมากกว่า ถ้าเราสามารถแสดงความคิดเห็นของเราให้เด็กรับรู้ แต่ให้โอกาสเขาแสดงความรู้สึกของเขาในวลาเดียวกันได้ จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในการอยู่ร่วมกัน
การพยายามเข้าใจในตัวเด็ก สำคัญมากกว่าพยายามบังคับ
คุณบอยเองก็ได้นำหลักการต่างๆจากคุณเพลินไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูกของตนเองด้วย โดยเดิมทีคุณบอยไม่ได้มีหลักการอะไร มักจะใช้อารมณ์เป็นตัวนำในการเลี้ยงดูลูก และดูแลลูกจากมุมมองของตัวเอง แต่คุณเพลินแนะนำมาตลอดว่าให้มองจากสายตาของลูกเป็นหลัก ซึ่งเมื่อคุณบอยลองเปลี่ยนมุมมองแล้ว การปฏิบัติต่อลูกก็เปลี่ยนตามไปด้วย และพบว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับพ่อแม่ หรือใครก็ตามที่ควรจะใช้สายตา และหัวใจของที่คนเราคุยด้วยในการปฏิบัติต่อกัน
คุณไลฟ์เสริมอีกว่าการที่เราพยายามเข้าใจในตัวเขานั้นอาจจะทำได้ยาก แต่เชื่อว่าสำคัญมากกว่าการที่พยายามบังคับลูกให้เชื่อฟังเรา เพราะลูกจะรับรู้ด่าพ่อแม่พยายามฟังเขาก่อน และจะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างว่าตนเองเคยเรียนในโรงเรียนที่เข้มงวดมาก ในขณะที่ตนเองไม่ได้เป็นคนอยู่นิ่ง จึงรู้สึกกดดันมาก แต่ภายหลังเมื่อได้ย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่ให้อิสรภาพในการพูด และแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทำให้รู้สึกกับการไปโรงเรียนมากขึ้น และคิดว่า ที่สามารถมาเป็นนักพูดอย่างทุกวันนี้ได้ เพราะได้มีโอกาสอยู่ในสังคมที่อนุญาตให้เราเป็นแบบที่เราอยากเป็น
ในปัจจุบันนี้ผู้ปกครองมักจะเอาความรู้สึกตัวเองไปตัดสินลูก เช่น บอกว่าเด็กคนนี้ดื้อ แล้วไม่ว่าเด็กจะทำอะไรไม่ได้ตามที่พ่อแม่ต้องการ ก็จะให้เหตุผลว่าเด็กคนนี้ดื้อ นั่นหมายความว่า เราไม่ให้โอกาสเด็กคนนั้นได้บอกว่าเขากำลังพยายามสื่อสารอะไร ถ้าหากว่าพ่อแม่พยายามเข้าใจแล้ว แต่ยังสงสัยว่าลูกตนเองมีปัญหาจริงๆ อาจจะต้องมาดูต่อว่า เด็กมีพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นหรือไม่ และอาจจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่อไป
กรณีศึกษา คุณบอย โกสิยพงษ์
ตัวคุณบอยเองก็สงสัยว่าตนเองอาจจะเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะไม่สามารถทนกับสถานการณ์อะไรบางอย่างได้ และอย่างที่พอจะทราบกันอยู่แล้วว่าคุณบอยเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง จนถูกเชิญให้ออกจากรร.ก่อนที่จะเรียนจบ แต่ครอบครัวของคุณบอยเข้าใจ คอยให้กำลังใจและสนับสนุนคุณบอยอยู่เสมอ ประกอบกับคุณบอยมีพรสรรค์ และสามารถเรียนรู้ในแบบของคุณบอยเองได้ ทำให้คุณบอยสามารถดึงจุดเด่นขึ้นมา ทำให้ทุกๆคนรักและยอมรับ จนสามารถประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้ได้จากกรณีของคุณบอยคือ ต่อให้เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่ไม่สามารถเรียนรู้ในรูปแบบเดียวกับคนอื่นๆได้ แต่การที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนรักและพร้อมจะเข้าใจ มองเห็นแต่จุดเด่น มองผ่านจุดด้อย ก็จะเกิดการเกื้อหนุนในสิ่งที่เป็นอยู่ ทำให้เด็กคนนั้นมีโอกาสที่จะค้นหาศักยภาพของตนเองที่ซ่อนอยู่และนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้
คุณไลฟ์เสริมว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำคนที่ติดยาเสพติดมารวมกันเพื่อพยายามหาทางบำบัด แต่ผลทีได้กลับทำให้คนติดยามากขึ้น นักวิจัยจึงลองเปลี่ยนวิธีให้คนที่ติดยากระจายกันไปอยู่ในสังคมจริงๆที่ยอมรับพวกเขาจริงๆ ปรากฏว่าคนเหล่านั้นกลับหายจากอาการติดยาได้ ซึ่งผลจากงานวิจัยนี้สามารถชี้ให้เห็นว่า การยอมรับจากสังคมมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาของคน
สิ่งสุดท้ายที่ต้องการย้ำ
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่สามารถกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้ คือ
- พยายามฟัง และเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น (Active Listening)
- มองในมุมมองของเขา อย่าเอาความรู้สึกของเรามาตัดสิน
- พยายามเข้าใจว่าเด็กเล็กจะเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งจะเป็นครูคนแรกของลูกจริงๆ
หลักการที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่พ่อแม่สามารถนำไปใช้กับลูกที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้น แต่ญาติพี่น้อง และสังคมที่อยู่รอบข้างเด็กล้วนมีความสำคัญ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หมดกับทุกๆความสัมพันธ์ในชีวิต
อย่างไรก็ตาม คุณเพลินให้ความเห็นในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้น แต่หากมีโอกาสได้คุยกับพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้น จะได้มุมมองอีกแบบหนึ่งที่มีมิติ และลึกซึ้งกว่านี้มาก เพราะตัวคุณเพลินเองก็มีหลานที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น รับรู้ว่าญาติรู้สึกอย่างไร และพ่อแม่เครียดยังไง เลยสามารถทำงานได้ละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
แนวคิดของการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกวันนี้ ได้พัฒนาขึ้นมาจาก 20 ปีที่แล้วมาก ถ้าตอนนี้พวกเราทุกคนช่วยกันทำความเข้าใจ และทำให้คนอื่นๆเข้าใจด้วย ถึงแม้ว่าเราจะเปลี่ยนสังคมแบบพลิกฝ่ามือไมได้ แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะต้องดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ คุณเพลินอยากให้กำลังใจพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษว่า
“มันง่ายมากที่เราจะคิดว่าเราเผชิญสถานการณ์นี้คนเดียว
แล้วทำให้เราถูกแยกออกมาจากสังคม
แต่อยากให้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว
ยังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่เป็นแบบเดียวกัน”
ตอนนี้คุณเพลินทำงานร่วมกับ The Rainbow Room ซึ่งเกิดจากคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จึงอยากสร้าง Community และศูนย์ข้อมูลให้กับพ่อแม่ที่เจอประสบการณ์ดังกล่าว หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเข้าไปที่ FB : The Rainbow Room | A Special Needs Awareness Centre หรือ email ได้ที่ hello@therainbowroom.org