
ชีวิตที่เลือกได้ – คุณหรั่ง อัครินทร์ ปูรี
Lifeis
อีกครั้งที่รายการ LIFEiS ได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลที่เคยผ่านช่วงชีวิตที่ผิดพลาด แต่สามารถกลับมามีชีวิตใหม่ได้ แขกรับเชิญพิเศษของ LIFEiS วันนี้ ถือได้ว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องร้ายๆมาก่อน ใครที่มีลูกหลานหรือเพื่อนในกลุ่มวัยรุ่นลองเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาดู เพื่อให้รู้ว่าชีวิตในอีกมุมหนึ่งเป็นอย่างไร
วันนี้เราได้คุยกับ คุณอัครินทร์ ปูรี หรือคุณหรั่ง อดีตผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่เข้าสถานพินิจตั้งแต่อายุ 15 และใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำรวมๆแล้วนานกว่า 10 ปี แต่ปัจจุบันเป็นช่างทำกีตาร์แฮนด์เมด และอาสาสมัครเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ ให้กำลังใจให้กับผู้ต้องหาในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงเรือนจำทั่วประเทศ
อยากให้คุณหรั่งเล่าให้ฟังหน่อยว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เดินทางผิดพลาดคืออะไร
คุณหรั่งแนะนำตัวเองว่า “สมัยผมเป็นวัยรุ่น ผมมีชีวิตที่ผิดพลาด ได้เข้าสถานพินิจ (บ้านเมตตา) ตั้งแต่อายุ 15 ซึ่งตอนนั้นถ้าเลือกตัดสินใจดีกว่านี้ ตอนนี้ก็คงเสียใจน้อยกว่านี้”
ย้อนกลับไปก่อนที่จะเข้าสถานพินิจ ผมก็เป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วๆไป ต้องการการยอมรับจากเพื่อน แล้วตอนนั้นก็อยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ยกพวกไปตีกับโรงเรียนอื่น พอทำแล้วรู้สึกเท่ห์เลยอยู่กับเพื่อนกลุ่มนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งถูกตำรวจจับ ซึ่งตอนนั้นตำรวจจับเพื่อที่จะทำทัณฑ์บนเฉยๆ เรียกให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับ แต่ตอนนั้นพ่อโมโหเลยไม่ยอมมารับและบอกตำรวจให้เอาผมนอนในคุกคืนหนึ่ง ผมเห็นตำรวจคุยกับพ่ออยู่นานยืนยันว่าจะให้พ่อมารับกลับให้ได้ แต่สุดท้ายพ่อก็ไม่มา ตำรวจเลยให้ผู้ปกครองเพื่อนมาเซ็นรับตัวผมออกไปแทน
ในตอนนั้นผมไม่เข้าใจพ่อหรอกว่าพ่อมีเจตนาดีที่ต้องการสั่งสอนผมให้เรียนรู้ว่าการติดคุกมันแย่ ผมรู้สึกน้อยใจมากกว่า พอออกมาได้ก็ไม่อยากกลับบ้าน แล้วก็ไปนอนบ้านเพื่อนคนที่ญาติเขามาเซ็นรับตัวผมออกแทน แล้วเพื่อนผมคนนี้ก็ติดยาบ้า พอเขาเสพยาตอนกลางคืน ผมเลยได้ลองด้วย ยาพวกนี้มันกระตุ้นประสาทให้เพลิน มีความสุข ฤทธิ์ยาทำให้ลืมความเศร้า พอผมลองได้ครั้งนั้นก็ติดใจ แล้วผมก็ยังอยู๋ในกลุ่มเพื่อนกลุ่มนี้อยู่ ผมก็เลยได้เสพต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
ตรงนี้ผมต้องขอย้ำเลยนะครับ ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ แล้วลูกโดนจับ คุณต้องไปรับออกมาให้ได้ ตอนนี้มองย้อนไปผมก็เข้าใจว่าพ่อพยายามจะสอนผม แต่ด้วยความโมโหและไม่รู้จะทำยังไงเลยแสดงออกด้วยการประชดแทน แต่เด็กวัยรุ่นส่วนมากยังไม่เข้าใจหรอกครับ ตัวผมเอง ผมก็ถูกพ่อตีด้วยอารมณ์ที่หนักเกินไปหลายครั้ง ทำให้ผมกลัว พอทำอะไรผิดแล้วผมไม่อยากโดนทำโทษ ผมก็หนี จริงๆถ้าคุยกันดีๆได้ มันก็คงดีกว่านี้ ผมเลยอยากแนะนำคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายว่าให้ใช้ความรักค่อยๆสอนดีกว่า ไม่อย่างนั้นลูกคุณอาจจะเตลิดไปกันใหญ่ ถ้าลูกคุณเองทำผิด แล้วคุณไม่อ้าแขนรับเขาไว้ เขาก็ต้องไปหาที่พักพิงที่อื่นแทนซึ่งมันไม่ดีหรอกครับ
พี่บอยเสริมว่าจริงๆแล่วการที่พ่อแม่ตีลูก ก็เกิดมาจากความกลัวเหมือนกัน กลัวว่าไม่รู้จะจัดการกับลูกยังไง จึงใช้อารมณ์ก่อนเพื่อจัดการเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นได้ แล้วตัวเองจะได้สบายใจว่าเราได้สอนลูกแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าการใช้อารมณ์แบบนั้น กลับกลายเป็นการผลักลูกให้ไกลออกไปมากขึ้น
คุณหรั่งอยากฝากบอกไปยังพ่อแม่ว่า ให้พยายามนึกอยู่เสมอว่า เราต้องให้อภัยลูก พยายามเข้าใจเขาให้ได้ ก่อนที่เขาจะเตลิดไปหาเพื่อนแล้วพบว่าเพื่อนให้อภัยเขา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เขาจะไปหาเพื่อนแทน
พี่ไลฟ์ให้ความเห็นว่า สิ่งแย่ๆที่เราทำครั้งแรกในชีวิตส่วนมากแล้วเราจะไม่ได้ทำคนเดียว แต่จะมากับกลุ่มเพื่อนที่เราคบ ดังนั้นคนที่ลูกคบจะสำคัญ และมีผลกับลูกมากๆ ถ้าพ่อแม่เป็นเพื่อนที่ดีกับลูกได้ ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับเขา เขาจะรู้สึกพร้อมจะกลับมาคุยกับพ่อแม่ตลอดเวลา และพ่อแม่อาจจะรับรู้เรื่องร้ายๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ทำไมถึงได้ไปเข้าสถานพินิจ
พอเริ่มเสพยามาเรื่อยๆ ยาก็เริ่มทำลายอุปนิสัยเดิม เริ่มก้าวร้าว เริ่มไม่กลัว ทำอะไรเสี่ยงๆมากขึ้นเพราะฤทธิ์ยากระตุ้น ไม่สนใจพ่อ เพราะถือว่าตัวเองมีที่ของตัวเองแล้วไม่ต้องกลับบ้านก็ได้ ตอนนั้นพ่อยังไม่รู้ว่าเสพยา รู้แต่ว่าพฤติกรรมเราเปลี่ยน พ่อก็เริ่มตามให้ผมกลับบ้าน แต่ผมก็เห็นเพื่อนดีกว่า แล้วก็คึกคะนองมากขึ้นเรื่อยๆจนถูกจับครั้งแรกตอนอายุ 15 เขาก็จะพาผมไปสถานพินิจ พ่อกับพี่สาวผมก็พยายามจะมาประกันตัวนะ แต่ตอนนั้นที่บ้านก็ไม่มีเงิน ผมก็เลยต้องเข้าไปอยู่ที่นั่น
สถานพินิจนี่จริงๆก็คือคุกเด็ก แต่ละคนก็ทำเรื่องร้ายๆกันมา ดังนั้นเวลาคุยกันในนั้นก็มีแต่เรื่องไม่ดี พอผมเข้าไปก็เหมือนกันผมได้เจอคนที่เก่งกว่า แกร่งกว่า คอยปลูกฝังสิ่งที่ไม่ดีกันทุกวัน ผมก็เห็นคนกลุ่มนี้เป็น Idol แล้วก็เริ่มจำเพื่อเอามาทำตาม ก็กลายเป็นว่าผมได้เรียนรู้มากขึ้นไปอีก
หลังจากที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนในสถานพินิจแล้ว พอพ่อประกันตัวออกมาได้ เพื่อนยิ่งให้การยอมรับเข้าไปใหญ่ทำให้ผมรู้สึกเท่ห์มาก แล้วผมก็ติดยาหนักขึ้น เกเรขึ้น แทบไม่ได้กลับบ้านเลย แล้วหลังจากที่ออกมาได้ 3 เดือน ผมก็กลับเข้าไปที่สถานพินิจใหม่อีกครั้ง เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆวนไปวนมาถึง 7 ครั้งในระยะเวลา 3 ปี ตอนที่ผมเข้าครั้งที่ 1-2 ผมรู้สึกกลัว พอมาครั้งที่ 3-4 นี่รู้สึกว่าอยู่ได้ ครั้งที่ 5 ก็ชิน ครั้งที่ 6-7 นี่เรียกว่าอยู่รอวันออกแล้ว
ในช่วงที่ผมไม่ได้อยู่วนสถานพินิจ ผมก็ไม่ได้กลับบ้าน พ่อผมแทบนอนไม่ได้เลย เพราะเป็นห่วงผม ไม่รู้จะไปตามตัวที่ไหน จนครั้งสุดท้ายี่ผมได้เข้าไปนี่ผมรู้สึกว่าพ่อดีใจ เพราะเขาไม่ต้องห่วงผมแล้ว อย่างน้อยก็รู้ว่าผมอยู่ที่ไหน ตามตัวได้ แล้วก็เริ่มนอนหลับ เขาห่วงผมมากแต่ตอนนั้นผมกลับมองไม่เห็นความดีที่เขาทำให้ผมเลย
ผมเสพยามากขึ้นเรื่อยๆ จริงๆตอนที่โดนตำรวจจับก็ติดยาแล้ว แต่คิดว่าติดใจมากกว่า ไม่ใช่ติดทางกาย เพราะช่วงที่อยู่ในสถานพินิจหายามาเสพไมได้ ผมก็อยู่ได้นะ จะมีอาการเพลียอยู่ 1-2 วัน แต่พอได้นอนหลับ กินอิ่มก็หาย แล้วพอออกจากสถานพินิจออกมาใหม่ หายามาเสพได้ ก็กลับมาติดยาใหม่อีกรอบ
ตอนที่ผมติดหนักๆ ผมเสพวันนึงเป็นสิบๆเม็ด จนถึงจุดที่ผมคิดวาจริงๆผมไม่อยากเสพยาแล้ว เพราะตอนนั้นหน้าตาซูบผอม กลางวันออกมาโดดแดดไม่ได้ แต่ด้วยความที่ก็ยังอยู่กับเพื่อนๆกลุ่มเดิม มีสภาพเดียวกัน ผมก็เลยไม่หลุดจากสภาพนี้ อยากออกยา เพราะเหนื่อยแล้ว เงินก็ไม่มี ต้องไปขโมยเงินมาเสพอีก ก็เริ่มคิดว่าชีวิตต้องพังแน่ เลยเปลี่ยนไปหายากล่อมประสาทจำพวกแวเลี่ยม กัญชา มาเสพแทน เอาจริงพวกยานอนหลับ ยาแก้ไอนี่ถ้าเสพเข้าไปเยอะๆเราก็เมาได้ ตอนนั้นผมรู้สึกเอาเองว่ามันโอเค แต่จริงๆแล้วสภาพร่างกายตอนนั้นทรุดโทรมมาก
ตอนนั้นอยากจะเลิกยาบ้างมั๊ย
ครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าสถานพินิจนี่ผมอายุ 18 พ่อก็มาขอร้อง ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเป็นการขอร้องด้วยความรัก แล้วผมก็เริ่มรู้สึกสงสารพ่อ รู้สึกว่าผมเสพยามากเกินไป ผมเลยยอม และสรรหาวิถีทางที่จะเลิก พ่อก็พาผมไปบำบัด แต่วิธีบำบัดที่ผมเจอคือ เขาใช้ยาตัวอื่นที่ฤทธิ์อ่อนลงมาบำบัดให้ผมเลิกยาตัวที่ผมติด ก็กลายเป็นว่าผมเลิกยาตัวเดิมได้ แต่ติดตัวใหม่แทน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าถ้าอยากเลิกยาจริงๆ ต้องตัดขาด ไม่ใช่เอาตัวอื่นมาแทนแบบนี้
สำหรับคนที่อยากเลิกยาแบบเลิกขาด ผมรู้จักอยู่ 2-3 ศูนย์ที่จังหวัดเชียงราย ถ้าใครสนใจสามารถติดต่อผมโดย inbox เข้ามาที่ facebook page ของผมที่ Rung Akkarin ได้เลย ที่นั่นเขาจะสอนให้ทำงาน ตัดขาดจากยา ฝึกอาชีพ และเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งอาจจะยากหน่อย ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัวด้วยว่าจะยอมรับการบำบัดหรือเปล่า แต่ผมรับรองว่าถ้าตั้งใจจริงและผ่านไปได้ จะหายขาดแน่ๆ
นอกจากเรื่องเลิกยา พ่ออยากให้ไปเป็นทหารด้วย ผมก็ยอมเหมือนกัน ช่วงฝึกหนัก 2 เดือนนี่ผมก็อยู่ในระเบียบวินัย นิสัยดี เลิกเสพยาได้ แต่ตอนนั้นพ่อก็มาเสียไปก่อน คราวนี้พอเลิกฝึก ได้อิสระ ก็มาเจอเพื่อนไม่ดีที่เสพยาบ้าอีก ผมก็กลับมามีชีวิตแบบเดิม ผมออกไปซื้อยาบ้ามาจากข้างนอกกลับเข้ามาเสพในกรม แต่วันหนึ่งก่อนที่ผมจะกลับถึงกรมก็ถูกจับได้แล้วก็ได้ติดคุกทหาร โทษฐานครอบครองยาบ้า 50 เม็ด
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ เราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกเราติดยา
คนติดยานี่ไม่เหมือนเดิมแน่นอน ถ้าพ่อแม่ให้ความสนใจลูก ผมคิดว่า 100% จะต้องดูออก เพราะคนที่เสพจะขยันผิดปกติ ไม่หลับไม่นอน แต่เจ้าตัวจะไม่รู้ ถ้าเขาติดยา เขาต้องเสพต่อเนื่อง ให้พ่อแม่ลองสังเกตดู ไม่เกิน 1 เดือน คุณจะสังเกตออกแน่ๆ และถ้าสังเกตได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ผมคิดว่าน่าจะเลิกได้ไม่ยาก
สำหรับตัวผมเอง ผมติดยาเพราะครอบครัวแตกแยก คุณแม่ผมเสียตั้งแต่เด็ก แล้วคุณพ่อก็อาจจะเครียดและไม่รู้จะดูแลลูกยังไง เลยทำให้ผมกับพ่อไม่เข้าใจกัน และผมก็เตลิดในที่สุด และจากสถิติแล้ว 70% ของเด็กที่อยู่ในสถานพินิจก็เป็นกลุ่มที่ครอบครัวมีปัญหา และต้องการการยอมรับจากเพื่อนแทน ซึ่งเรื่องการต้องการการยอมรับของเด็กวัยรุ่นนี่สำคัญมากนะ เพราะมันทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเองได้ ถ้าเขาได้รับการยอมรับจากใคร เขาก็จะทำตัวตามคนที่ยอมรับในตัวเขา ดังนั้นครอบครัวต้องหาจุดดีของเขาแล้วยอมรับในตัวเขาให้ได้ หรือลองหา Idol ดีๆให้เขา จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้มาก
การให้โอกาสเด็กวัยรุ่นที่ทำผิดพลาดไป คือ ความรักเท่านั้น ต้องพูดคุยเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน และไม่ว่าจะยังไง อย่าให้เขาต้องเข้าสถานพินิจเด็ดขาด เพราะเป็นที่ที่จะทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้เรื่องร้ายๆมากขึ้นไปอีก เพราะเจ้าหน้าที่ด้านในไม่เพียงพอที่จะดูแลทุกคนหรอก แต่เท่าที่ผมทราบ ตอนหลังๆนี่เขาจะเริ่มคุยกับพ่อแม่แล้วว่าให้รอลงอาญาแทน ไม่ต้องมาเข้าสถานพินิจแล้ว ซึ่งมันก็เป็นทางเลือกที่ดีขึ้น
ขอย้อนกลับมาเรื่องคุณหรั่งอีกครั้งหนึ่ง ตอนอยู่ในคุกทหาร ชีวิตเป็นยังไงบ้าง
ตอนที่เข้าคุกทหารนี่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ผมอยู่ในคุกทหาร 1 ปี 6 เดือน แต่พอออกมาได้ ผมก็กลับมามีเวลาว่างอีก ก็กลับไปหาเพื่อนกลุ่มเดิม ติดยาเหมือนเดิม แล้วก็วนเวียนอยู่ในวงจรนรกเหมือนเดิม จนวันนึงผมไปกระชากทองจากคนที่มาซื้อยาจากเรา ด้วยความที่คิดว่าเขาก็ติดยาคงไม่รู้เรื่องอะไร แต่ไม่ใช่ เขาไปแจ้งความชิงทรัพย์ แล้วสุดท้ายผมโดนตัดสินจำคุกผู้ใหญ่ 10 ปี พอได้ยินแล้วขาสั่นเลย จินตนาการได้ว่าชีวิตต้องแย่มาก คิดแต่ว่าจะทำยังไงให้อยู่ได้
แล้วพอได้เข้าไปในคุกผู้ใหญ่แล้วเกิดอะไรขึ้น
ตอนนั้นคุณพ่อผมเสียแล้ว มีแต่พี่สาวคนเดียว ผมไม่อยากให้พี่สาวห่วงเลยคิดว่าผมต้องเอาตัวรอดในคุกให้ได้ แล้วระบบในเรือนจำนี่เราต้องมีกลุ่มเพื่อให้เขาคอยปกป้องเรา ถ้าเราอยู่เฉยๆ ยังไงๆก็จะมีคนมาหาเรื่องอยู่ดี ช่วงแรกๆผมก็อยู่เฉยๆ แต่พอมีคนเข้ามาหาเรื่องตลอด ผมก็ต้องสู้ บางทีก็ช่วยเพื่อนบ้าง แต่ไปๆมาๆกลายเป็นว่ามีคนยอมรับ ตอนนั้นผมเลยคิดว่าถ้าผมเกเร แล้วเป็นนักโทษพิเศษในเรือนจำได้ ชีวิตผมก็จะอยู่รอด ผมเลยเริ่มเกเรมากขึ้น
เรือนจำที่ผมอยู่ถือว่าเป็นเรือนจำใหญ่ มีนักโทษประมาณ 5,000 คน นักโทษในนั้นก็จะแบ่งเป็นกลุ่มๆแบบรู้กันเองเรียกว่า “บ้าน” ซึ่งพอผมเกเรมากขึ้นๆผมก็เริ่มมีบ้านของตัวเองแล้ว บางบ้านมีกัน 600-700 คน ถ้าเขายกพวกมาตีเราแล้วเรามีจำนวนน้อยเราก็จะสู้ไมได้ ผมเลยต้องขยายอาณาเขตบ้านผมออกไปโดยการทะเลาะกับคนอื่นไปเรื่อยๆ จนบ้านผมก็ใหญ่ขึ้นๆ ช่วงที่มีลูกบ้านเยอะที่สุดคือประมาณ 1,000 คน
พอเราเป็นบ้านใหญ่ เวลาเราจะทำอะไรทุกบ้านก็จะยอมรับเรา ไม่ค่อยขัดใจ ถ้าเมื่อไหร่ที่มีคนไม่ยอม หรือเริ่มมีการต่อรอง เราจะรู้แล้วว่าเริ่มมีบ้านอื่นที่มีอิทธิพลขึ้น แล้วก็เดาได้ว่าเดี๋ยวจะต้องมีการทะเลาะกัน ลูกบ้านจะเริ่มรวมตัวเพื่อหาทางเล่นงานกันทีเผลอบ้างแล้ว มีใช้เหล็กแหลมไล่แทงกันบ้าง (อาวุธนี่เป็นอะไรก็ได้ หยิบจับอะไรได้ก็เอามาสู้กันได้หมด) จนสุดท้ายก็จะมีเรื่องแบบยกพวกตีกัน ช่วงนั้นจะห้ำหั่นกันมาก ลองคิดภาพดูว่า 1,000 ต่อ 1,000 ยกพวกมาตีกันมันเหมือนสนามรบดีๆนี่เอง ยังไงเจ้าหน้าที่ก็คุมไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีประมาณ 30-40 คน ต่อนักโทษ 5,000 คน เขาไม่มีทางห้ามไหวหรอก ต้องหลบออกไปก่อนแล้วค่อยเข้ามาจัดการตอนที่เหตุการณ์สงบแล้ว การแทงกันตายระหว่างทะเลาะกันก็เป็นเรื่องปกติในนั้น
อยู่ในนั้นมันเหมือนตกนรกทั้งเป็นจริงๆ สภาพจิตใจเปลี่ยนอย่างรุนแรง ขนาดผมเป็นพ่อบ้าน (หัวหน้าแกงค์) ได้สิทธิพิเศษอะไรหลายๆอย่าง แต่ผมบอกเลยว่าผมไม่กล้านอนหลับ ผมผวาทุกครั้งที่มีคนลุกไปห้องน้ำตอนกลางคืนเพราะผมกลัวมีคนมาทำร้าย มันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผมเรียนรู้เลยว่าไว้ใจใครไม่ได้ คือมีเพื่อน 2 คนเขาทะเลาะกัน เจ้าหน้าที่เองเขามองว่าไหนๆก็เป็นเพื่อนกัน แล้วก็เป็นผู้ใหญ่กันแล่ว เขาเลยล่ามตรวนคู่ให้ใช้ชีวิตด้วยกันช่วงหนึ่ง เหตุการณ์ก็เหมือนจะดีกัน ไม่ทะเลาะกันแล้ว เจ้าหน้าที่เลยถอดตรวนออก แต่ปรากฏว่า ช่วงที่คนหนึ่งทำอะไรๆตามปกติอยู่ อีกคนหนึ่งกลับลอบเอาก้อนหินมาทุบคนนั้นจนตาย …คือเขาทำตัวปกติเพื่อให้อีกคนตายใจเพื่อที่จะแก้แค้นได้ง่ายๆในเวลาที่เหมาะสม ผมเห็นแบบนั้นแล้วผมยิ่งไม่กล้าไว้ใจใครเลย
เจ้าหน้าที่ที่ดูแลนักโทษข้างในปฏิบัติกับนักโทษยังไงบ้าง
ผมต้องบอกก่อนว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลนักโทษส่วนมากจะเอื้ออาทรกับนักโทษมาก จิตใจดี ดูแลนักโทษเหมือนเป็นครอบครัว จะมีลงโทษนักโทษเกเรๆบ้างตามกฎ มีเจ้าหน้าที่คนนึง ผมถือว่าเป็นครูของเรือนจำเลย เขาจะเข้าไปคลุกคลีกับนักโทษ ทำผิดอะไรก็จะไม่ลงโทษแต่จะพยายามใช้จิตวิทยาในการแนะนำว่าถ้าทำผิดมา เราสามารถเริ่มใหม่ได้ เรียกได้ว่าใช้ความเป็นครู และความรักดูแลกันเลยก็ว่าได้
แต่ก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดีก็มี ที่เห็นแก่เงิน ถือยาเสพติดให้นักโทษก็มี แต่ผมขอไม่พูดถึง ผมอยากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ดี ที่มีใจอยากช่วยพัฒนานักโทษจริงๆมากกว่า
ในเรื่องการทำผิด ถ้ามีการทะเลาะกันในเรือนจำ ปกติแล้วจะต้องถูกตีตรวน คือใส่เหล็กที่ข้อเท้าหนักประมาณ 9-12 กิโลกรัมทั้ง 2 ข้าง แล้วก็ขังเดี่ยวประมาณ 3 เดือน ซึ่งห้องขังก็จะเป็นห้องเล็กๆมีหน้าต่างบานนึง ข้างในจะมีถังสีไว้ให้ 1 ถังเพื่อถ่ายหนักถ่ายเบาอยู่ในนั้น เราต้องอยู่ในนั้นตลอดเวลา ถึงเวลาจะมีข้าวมาส่ง แล้วตอนเช้าเราก็ถือถังสีของเราออกไปเทด้านหน้าแค่นั้น คือถูกตัดขาดจากสังคมคุกอย่างสิ้นเชิงเลย บางคนที่สติไม่แข็ง และถูกขังนานๆนี่เพี้ยนไปเลยก็มี แล้วได้ยินว่าเดี๋ยวนี้มีห้องมืดแล้วด้วย น่าจะยิ่งทำให้จิตตกไปกันใหญ่
ตัวผมเองนี่โดนทำโทษก็หลายครั้ง ถูกใส่ตรวนอยู่เป็นปีจนเหมือนอวัยวะที่ 33 เลย ส่วนเรื่องขังเดี่ยว ผมยังให้เพื่อนแอบเอาหนังสือมาให้อ่านบ้าง เลยพอช่วยให้หายเครียดได้
เหตุการณ์อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต
ผมอยู่ในคุกมาถึงประมาณปีที่ 7 ตอนนั้นพี่สาวผมหันมานับถือศาสนาคริสเตียน แล้วพี่ผมมาบอกให้ผมลองขอพระเจ้าดูว่าอยากกลับบ้าน ตอนนั้นผมเองก็รู้สึกว่าผมเหนื่อยมากแล้ว รู้สึกว่าลึกๆแล้วตัวผมเองก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ ผมเลยลองอธิษฐานดูว่าผมอยากกลับบ้าน ผมอยากกลับตัว ถ้าผมอยู่แบบนี้ยังไงผมก็ไม่สามารถกลับตัวได้ แล้วปรากฏว่าปีต่อมา ผมได้รับอภัยโทษจริงๆ แล้วพอผมได้โอกาสนี้แล้ว ผมก็กลับตัวตามที่ผมได้ตั้งใจไว้ ซึ่งเอาจริงๆไม่มีใครคิดวาผมจะเปลี่ยนแปลงได้ หลายคนคิดว่าอย่างผมนี่ต้องตายในคุกแน่ๆ แต่พอผมเปลี่ยนได้ แล้วกลับเข้าไปพูดในเรือนจำอีก มันเลยเกิดผลกระทบค่อนข้างมาก
หลังจากที่ผมพ้นโทษได้ประมาณเดือนกว่าๆ ผมเจอพี่คนนึงที่อยากสร้างอาชีพให้คน และเลือกผมไปฝึก ผมก็ไปฝึกอาชีพกับเขาก่อน พอเริ่มทำได้ก็ฝึกงานกับเขาอยู่อีก 4 ปี แล้วหลังจากนั้นผมถึงเริ่มออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้
ผมอยากบอกตรงนี้ว่า การปรับตัวของนักโทษไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ อย่างที่เล่ามาว่าระบบในเรือนจำเป็นยังไง คนที่อยู่ในนั้นสภาพจิตใจก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จะเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเองไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้นเวลาเขาออกมาข้างนอก โอกาสที่จะปรับตัวไม่ได้ก็มีอยู่สูงเหมือนกัน ผมเข้าใจว่าทุกคนกลัวอดีตนักโทษ แต่ถ้ามีคนให้โอกาส ให้กำลังใจ และปลูกฝังทัศนคติดีๆให้กับพวกเขา ส่งเสริมเรื่องงาน ให้กำลังใจ ก็จะทำให้เขากลับตัวได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันนี้คุณหรั่งทำอะไรอยู่บ้าง
อาชีพหลักผมคือ ช่างทำกีตาร์แบบแฮนด์เมด แล้วก็เป็นจิตอาสากลับเข้าไปเยี่ยมเพื่อน และเป็นวิทยากรในเรือนจำ แล้วก็พยายามหางานให้คนที่อยากกลับตัวทำ หรือนักโทษบางคนที่ออกมาแล้วไม่เหลือใครที่ไหน ผมก็จะไปรับเขามาดูแลด้วย
จากที่ทำงานด้านนี้มา ผมเข้าใจได้ว่า การให้โอกาสในชีวิตจริง อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะหลายคนยังมีความกลัวและความระแวงอยู่ ผมก็จะพยายามคุยกับคนที่ยอมรับได้ก่อนให้ลองพาอดีตนักโทษที่เพิ่งออกมาให้มาฝึกงานด้วย แล้วพอพวกเขามีสภาพจิตใจแข็งแรงพอที่จะใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ ก็ค่อยปล่อยออกไป ซึ่งก็พอมีตัวอย่างของคนกลุ่มนี้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนกัน
ถ้ามีผู้ฟังหรือผู้อ่านอยากส่งเสริมอาชีพให้คนกลุ่มนี้จะช่วยเหลือยังไงได้บ้าง
อดีตนักโทษส่วนใหญ่เหมาะกับอาชีพที่เป็นนายตัวเอง ดังนั้นให้เขาทำงานค้าขายด้วยตัวเอง น่าจะเหมาะกว่า เพราะถ้าไปทำงานตามบริษัทฯ เขาจะต้องปรับพฤติกรรมหลายๆอย่างมากขึ้นด้วย แล้วจริงๆถึงแม้ว่าผมจะไปเรือนจำมาทั่วประเทศ แต่สัดส่วนของคนที่ติดต่อกลับเข้ามาจริงๆมีน้อยมาก เพราะผมสอนให้เขารู้จักชีวิตจริงๆ ต้องฝึกให้เขารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักขอบคุณ และปรับทัศนคติหลายๆอย่างที่เขาไม่เคยทำเลยตอนที่อยู่ในเรือนจำ หลายๆคนเขารับไม่ได้ ผมก็ต้องปล่อยเขาไปเหมือนกัน ถ้าใครอยากช่วยคนกลุ่มนี้อาจจะสนับสนุนเป็นเงินทุนให้เค้าทำการค้าเล็กๆของตัวเองได้ หรือหากมีงานอะไรที่เค้ายังไม่ต้องอยู่กับคนเยอะๆอาจจะพอได้
แต่อย่างหนึ่งที่ผมต้องบอกไว่อน คือ ต่อให้เราพยายามช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเขาแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่ยอมที่จะเปลี่ยนด้วยตัวเอง เราก็ทำได้แค่ประคองไว้อยู่ช่วงหนึ่ง และถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องปล่อย ต่อให้เป็นเพื่อนเราก็ต้องปล่อย ทำได้แค่ยืนอยู่ข้างๆ รอจนกว่าจะถึงวันที่เขาจะพร้อมให้เราเข้าไปช่วย แล้ววันนั้นเราค่อยยื่นมือเข้าไปอีกครั้ง
ถ้าใครสนใจอยากช่วยนักโทษกลุ่มนี้ สามารถ inbox เข้าไปที่ Facebook Fanpage ของผมได้เลยที่ Rung Akkarin ซึ่งตรงนี้ผมขอย้ำอีกทีว่าผมจะช่วยกรองให้ได้ แต่ผมไม่สามารถรับรองได้ 100%
พี่บอยเสริมว่า เรื่องการให้โอกาส และสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพของกลุ่มอดีตผู้ต้องโทษ คุณหรั่งไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ถ้าทุกคนเข้ามาร่วมมือกันก็จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และจะทำให้โอกาสที่จะมีคนกลับตัวได้มีมากขึ้นด้วย
นอกจากจะช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มอดีตนักโทษแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากคือ การบริจาคสิ่งของ หรือยื่นมือเข้าสนับสนุนเรือนจำโดยตรง เพราะเดี๋ยวนี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เริ่มเปิดกว้างให้คนภายนอกเข้าไปมีส่วนในการพัฒนานักโทษได้แล้ว หลายหน่วยงานเลยเริ่มเข้าไปช่วยสร้างอาชีพในนั้น ตอนนี้มีกศน.ในเรือนจำแล้ว กรมแรงงานก็เข้าไปร่วมด้วย ถ้ามีคนพยายามจะเข้าไปสอน เขาอยากมาอยู่แล้ว เพราะเขามีเวลาว่างเยอะ
นอกจากเรื่องส่งเสริมอาชีพ หลายๆเรือนจำก็มีห้องสมุด สามารถอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือกระทั่งดูหนังในเรือนจำได้ ดังนั้นถ้าใครมีหนังสือ หรือแผ่นหนังที่เป็นเชิงบวก พวกสร้างแรงบันดาลใจ หรือพัฒนาคน ก็สามารถติดต่อเรือนจำเพื่อขอบริจาคได้เหมือนกัน
ก่อนจะจากกันไป คุณหรั่งอยากฝากอะไรให้กับผู้ฟังกันบ้าง
สำหรับครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น ผมอยากบอกว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก พ่อแม่ควรเอาใจใส่ลูก ดูแลด้วยความรัก และหยิบยื่นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกับเขาด้วยความเข้าใจ จะทำให้เขาผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้อย่างราบรื่น
สำหรับนักโทษแล้ว สังคมไทยตอนนี้มีนักโทษในเรือนจำกว่า 3 แสนคน แล้วยังมีนักโทษที่ออกมาแล้วยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆอยู่ ถ้าสังคมไทยร่วมมือช่วยเหลือกัน จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และไม่สร้างปัญหาอย่างที่เป็นทุกวันนี้
ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้ทุกคนเริ่มมาร่วมมือกัน เพราะผมเชื่อว่ามันจะต้องทำให้สังคมดีขึ้นอย่างแน่นอน
*********************************************
หลังจากได้รับฟังประสบการณ์ของคุณหรั่งไปแล้ว ทาง LIFEiS เชื่อว่า เราคงได้เรียนรู้เรื่องราวอะไรหลายๆอย่างจากเรื่องราวนี้ ซึ่งทาง LIFEiS ขอขอบคุณคุณหรั่งเป็นอย่างยิ่งที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองให้ฟัง เพราะเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากทั้งในเรื่องการเดินทางผิดในช่วงที่เป็นวัยรุ่น การอดทนต่อการพยายามกลับตัว และการเลือกที่จะมีชีวิตเพื่อการแบ่งปันในวันที่ตนเองกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
เราเชื่อว่าทุกคนจะมีบางสิ่งบางอย่างที่สามารถแบ่งปันให้กับคนรอบข้างได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งของ แต่การให้กำลังใจกัน หรือการพูดสิ่งดีๆต่อกันด้วยความเอื้ออาทรก็เป็นการให้ที่ส่งผลดีต่อจิตใจผู้รับเช่นเดียวกัน
อย่างที่ LIFEiS เชื่อมาเสมอว่าทุกคนเกิดมาเพื่อเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ทุกคนต่างต้องการโอกาสทั้งสิ้น ในวันที่เรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น เราควรแบ่งปันโอกาสที่เรามีให้แก่คนที่เขาขาดด้วย เริ่มทำที่ตัวเราเองก่อน แล้ววันนึงเมื่อเกิดการให้โอกาสกันมากขึ้นๆ สังคมไทยในอนาคตก็จะกลายเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูลกันและกันในที่สุด